พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล

 

พระอธิการไพศาล วิสาโล (วงศ์วรวิสิทธิ์) เป็นพระนักเผยแผ่ที่เป็นที่รู้จักดีรูปหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2500 บรรพชาและอุปสมบทเป็นพระ เมื่อ พ.ศ. 2526 ปัจจุบันพระไพศาลเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

พระไพศาล เป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนในบวรพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ เป็นนักปฏิบัติธรรม และนักบรรยายธรรมที่ผลิตผลงานออกมาในรูปสื่อโทรทัศน์ และหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอในยุคปัจจุบัน ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มในการเตรียมตัวทางจิตวิญญาณก่อนตาย เพื่อให้ผู้ตายจากไปอย่างสงบ มีผลงานเผยแพร่ในสื่อหลายรูปแบบ

ประวัติ

พระอธิการไพศาล วิสาโล นามเดิม ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายก๊กกี๊ และนางกิมวา แซ่อุ่ย เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ภูมิลำเนา คลองมหานาค อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๕ การศึกษาระดับก่อนวัยเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค

พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๗ การศึกษาระดับประถม และมัธยมศึกษา แผนกศิลปะ โรงเรียนอัสสัมชัญ

พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๓ การศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์

ระหว่างเรียนที่ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสาราณียกรปาจารยสาร และเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ จนถึงปี ๒๕๒๖ โดยมีบทบาทร่วมในแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนเป็นเหตุให้ถูกล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา ๓วัน

อุปสมบทเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ณ วัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร เรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ วัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ซึ่งมีแนวปฏิบัติเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แบบหลวงพ่อเทียน จิตสุโภ ส่วนใหญ่ท่านพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยจำพรรษาสลับระหว่างวัดป่าสุคะโต กับวัดป่ามหาวัน

 

 

พระนักเขียน นักบรรยายธรรม แห่งวัดป่ามหาวัน

ด้วยพื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เห็นความสำคัญของการศึกษา พระไพศาลสมัยเป็น “เด็กเนิร์ด” ชั้น ม.ศ. 3 ที่อัสสัมชัญเริ่มอ่านหนังสือที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนและวารสารที่เป็นบรรณาธิการ จากนักเรียนที่เคยอ่านแต่หนังสือ สารคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ได้อ่าน “งานเขียนที่วิจารณ์บ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หากยังคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และคณะสงฆ์ ก็ช่วยให้หูตากว้างขึ้น และเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม” เกิดความสำนึกในสังคมพร้อมกับความนึกคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์

ปีถัดมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไพศาลอายุ 16 ปี เริ่มสนใจเช เกวารา ฟิเดล คาสโตร และจิตร ภูมิศักดิ์ ในบทความ “สองทศวรรษกับ ส. ศิวรักษ์” ที่ท่านเขียน พระไพศาลเล่าว่าช่วงนั้น “หลายคนพูดถึงการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ และการยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชน โค่นล้มนายทุนขุนศึกศักดินาให้สิ้นซาก ข้าพเจ้าเองก็พลอยได้รับอิทธิพลกระแสนี้ไปด้วย” กระนั้นก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากขบวนการฝ่ายซ้าย ตั้งคำถามกับความรุนแรง และเริ่มเรียนรู้สันติวิธี ซึ่งสมัยนั้นใช้คำว่า “อหิงสา” อันเป็นแนวทางที่อาจารย์สุลักษณ์และกลุ่มเพื่อนๆ สนใจ มีหัวข้อในวงสนทนาว่าด้วยพุทธศาสนา เต๋า และชีวิตภายใน

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ไพศาลได้รับทุนภูมิพล แต่ก็สนใจงานกิจกรรมมากกว่า และคลุกคลีในหมู่เพื่อนที่กำลังแปลหนังสือปรัชญาศาสนากันอย่างคึกคัก ในปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัย ท่านรับหน้าที่สาราณียกรของ ปาจารยสาร ซึ่งเปลี่ยนแนวทางจากที่เคยมุ่งเน้นด้านการศึกษามาเป็นอหิงสาสายพุทธศาสนาเพื่อสังคม “เราก็เห็นว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธนี่ก่อความเสียหายเยอะ ใจก็เลยเอียงมาทางสันติวิธี” ขณะอายุ 18 ปี ไพศาลตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ทำร้ายใคร และถึงแม้มีโอกาสก็จะไม่ทำ ถ้าจะตายก็ขอให้ได้ตายแบบไม่ทำร้ายหรือผูกใจเจ็บใครเลย ความตั้งใจดังกล่าวเป็นจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อท่านและเพื่อนชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีที่กำลังอดอาหารคัดค้านกรณีสามเณรถนอมอุปสมบทเข้าประเทศถูกจับกุม สามวันหลังนั้น ท่านและเพื่อนนักศึกษาได้รับการปล่อยตัว และฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) สร้างเครือข่ายและผลักดันให้เกิดกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในอีกสองปีถัดมา ชีวิตในมหาวิทยาลัยของพระไพศาลกินเวลาสี่ปีครึ่ง ซึ่ง “มีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน การเรียนรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย”

การทำงานกับ กศส. อย่างมุ่งมั่นทุ่มเทหลังเรียนจบนาน 3-4 ปี แม้ยังมีงานด้านสังคมที่ต้องทำอีกมาก แต่ส่วนตัวก็ทำให้เกิดภาวะที่พระไพศาลเคยบรรยายไว้ว่า “เหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว เป็นความเหนื่อยล้าชนิดที่ไม่ยอมคิดหาความสงบนิ่ง แถมยังสงบนิ่งไม่ได้ด้วย เพราะใจร้อนรนอยู่ไม่สุข” และก็เป็นอาจารย์สุลักษณ์นั่นเองที่ผลักดันให้ท่านลองบวช ซึ่งตั้งใจไว้แต่แรกเพียงสามเดือนเพื่อ “หวังให้หายเครียดเท่านั้นแหละ ไม่ได้หวังนิพพานอะไร”

34 ปีก่อน ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ย่านคลองสาน แล้วไปเรียนเจริญสติแบบเคลื่อนไหวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามในอยู่ห้าเดือน แล้วจึงไปจำพรรษาแรกที่วัดป่าสุคะโต ชื่อที่แปลว่า ผู้ไปดีแล้วบนเส้นทางอริยมรรค ไม่หวนกลับสู่กิเลสด้วยมัชฌิมาปฏิปทา พระไพศาลเมื่อบวชใหม่ปฏิบัติธรรมทั้งเต็มที่ทั้งซีเรียส แต่กลับไม่บรรลุผลใดๆ แถมยังกลายเป็นความเครียดคับแค้นและ “ล้มคว่ำคะมำหงาย” ครั้งแล้วครั้งเล่า สองเดือนผ่านไป พอพระไพศาลถอดใจและอยู่เพื่อลาสิกขาในเดือนที่สาม คราวนี้กลับกลายเป็นว่า “วางใจได้ดีขึ้น มีความผ่อนคลายเพราะปล่อยวาง สติและความรู้สึกตัวค่อยๆ เพิ่มพูน ทำให้รู้ทันความนึกคิดได้เร็วขึ้น และหลุดจากความฟุ้งซ่านได้ไว ทำให้ใจสงบและว่างจากความคิดได้นานขึ้น เป็นครั้งแรกที่เข้าใจว่าการอยู่อย่างมีสตินั้นหมายถึงอะไร และอดไม่ได้ที่จะซาบซึ้งในพลังแห่งสติ”

หน้าแล้งปี 2559 ภูหลงต้องเผชิญกับไฟป่าที่ต้นเพลิงจากข้างนอก ข้ามเขตแนวกันไฟมา นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษขนาดที่ทำให้สูญเสียต้นไม้ไปกว่า 2,000 ไร่ ทั้งป่าปลูกใหม่อายุกว่า 10 ปีด้านทิศเหนือและทิศใต้เกือบทุกแปลง รวมทั้งป่าดิบเขาที่เป็นไม้เก่าแก่อายุ 300-400 ปี ถือเป็นไฟที่ไหม้ตรงไข่แดงของป่าภูหลงซึ่งเป็นจุดที่เข้าถึงยาก ไฟป่าหนนี้ แม้เปลวเพลิงจะไหม้รุนแรงอยู่ไม่ถึงสัปดาห์ แต่ที่ทำให้ต้องเฝ้าระวังผลัดเวรดับไฟกันทั้งวันทั้งคืนอยู่เป็นเดือนก็เพราะมีไฟสุมขอนที่คอยจะปะทุและลามต่อไปเรื่อยๆ สำหรับป่าที่อยู่ห่างไกลกันดาร กำลังหลักที่ช่วยกันดับไฟป่าหนีไม่พ้นพระวัดภูหลง ชาวบ้านตาดรินทองและหมู่บ้านใกล้ๆ และอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟก็ยิ่งไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าถังน้ำพลาสติกกับรองเท้าแตะยางที่ถอดออกมาตบไฟที่ไหม้ตามพื้น

แม้จะรู้สึกเสียดายที่ป่าถูกไฟไหม้ไปมากและงานข้างหน้าคงยากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าถามพระไพศาลว่าหมดแรงไหม “ไม่มี โธ่เอ๊ย หมดแรงแบบเพลียน่ะมี อย่างอื่นไม่มี ทำต่อไป พยายามโหมกำลังเข้าไป ป่าเราไหม้ไป 2,000 ไร่ ที่น่านโดนเผาไปทีเป็นแสนไร่ ของเราจิ๊บจ๊อย ถ้าเราคิดว่าป่าก็ต้องมีไฟ ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจและเห็นว่าปัญหามันเล็กน้อย” เสียงราบเรียบตอบเรื่อยๆ เหมือนเป็นคำสนทนาเรื่องจิปาถะ

“ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส” ที่เป็นทั้งชื่อหนังสือ ทั้งสโลแกนปิดท้ายหนังสือธรรมะหลายเล่มของพระไพศาล จึงไม่ได้เขียนออกมาคล้องจองเก๋ๆ แต่เป็นถ้อยคำที่เชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริง

 

ขอบคุณข้อมูล https://th.wikipedia.org/และhttps://www.thairath.co.th/

Related posts

Leave a Comment