ศรีวรา อิสสระ
ชีวิตที่มีพุทธธรรมนำทาง
สัจธรรมข้อหนึ่งของชีวิตคือ ทางของชีวิตอาจไม่ราบเรียบเป็นเส้นตรง อาจมีขึ้นมีลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณศรีวรา อิสสระ หญิงแกร่งแห่งแวดวงธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ประธานกรรมการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตจริงในฐานะแม่ และผู้บริหารองค์กร ที่ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจ บริหารครอบครัว และบริหารจิตใจของตนเองให้เข้มแข็ง พร้อมรับทุกความท้าทายที่เกิดขึ้น
กว่าจะได้เริ่มต้น
ในวัยยี่สิบ คุณศรีวรามีโอกาสเดินทางไปวัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติที่จังหวัดอุบลราชธานี จนรู้สึกประทับใจวิถีพระป่าเป็นอย่างมาก กระทั่งปี 2535 เมื่อจะส่งลูกชายไปเข้าโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ จึงได้พาครอบครัวไปกราบพระอาจารย์ชยสาโร และพระอาจารย์ปสันโน (ปัจจุบันคือ พระราชพัชรมานิตและ พระราชโพธิวิเทศ) ที่วัดป่านานาชาติและสำนักสงฆ์ภูจ้อมก้อม เพื่อให้ลูก ๆ ได้ฝึกสติและมีคำสอนของครูบาอาจารย์เป็นหลักในการดำเนินชีวิตในต่างแดน
“ตอนแรกคิดว่าทำเพื่อลูก ไม่ใช่เพื่อตนเอง เราไปพักที่สำนักสงฆ์ 3 – 4 วัน ท่านอาจารย์พาเด็ก ๆ เดินป่า เล่านิทานธรรมะ และทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กทุกคนเคารพรักท่านมาก เราจึงมีกิจกรรมพาลูก ๆ หลาน ๆ ไปกราบและใช้เวลากับท่านอาจารย์เป็นประจำทุกปี ไม่ว่าท่านจะไปปลีกวิเวกอยู่ที่ไหน นี่คือที่มาของการจัดปฏิบัติธรรมเยาวชนกับท่านอาจารย์ชยสาโรในช่วงวันแม่ของทุกปีต่อเนื่องกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว จากลูกหลานเราไม่กี่คน ปัจจุบันมีผู้ขอเข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก เรารับได้ราว ๆ 170 คน ทั้ง ๆ ที่ท่านอาจารย์ตั้งจำนวนไว้ไม่เกิน 50 คนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อย่างใกล้ชิดอบอุ่นเป็นกันเอง
“ในปี 2535 เป็นช่วงที่ลูกของเราและเพื่อนเริ่มเป็นวัยรุ่น การปฏิบัติธรรมจึงเหมือนการเข้าค่ายสังสรรค์ วันหนึ่งท่านอาจารย์ออกมาเดินจงกรมตอนตี 3 เห็นเด็ก ๆ ยังเล่นกันไม่ยอมนอน วันนั้นท่านจึงอบรมหนัก ท่านว่าส่วนมากจะปฏิเสธไม่รับกิจนิมนต์ เพราะต้องการทุ่มเทเวลาให้ผู้ที่มาบวชเป็นพระ ท่านอุตส่าห์เจียดเวลามาสอนพวกเราเพราะต้องการดูแลเมล็ดพันธุ์ที่ท่านบ่มเพาะมาแต่เล็ก ให้เติบโตแข็งแรง แล้วท่านได้หันมาพูดเสียงเข้มกับบรรดาพ่อแม่ที่คิดว่าตัวเองมาร่วมกิจกรรมในฐานะผู้คุมเด็กว่า ‘แล้วพวกผู้ใหญ่ เมื่อไหร่จะเริ่มปฏิบัติธรรมจริงจังกันสักที’ วินาทีนั้นเราจึงสำนึกได้ว่า ตัวเราเองก็ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตน”
ธรรมะสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต
เมื่อถามถึงหลักธรรมที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตประจำวันที่สุด คุณศรีวราแนะนำว่า “ศีลห้า” เป็นหลักที่ทุกคนควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
“ท่านอาจารย์พร่ำสอนว่า ศีลห้าเป็นหลักชีวิตพื้นฐานเพื่อประโยชน์และความสุขสงบ ทั้งต่อตัวเราเองและต่อคนรอบข้าง ถ้าแม้แต่ยุงเรายังไม่ตบ เราจะไปทำร้ายใครได้ ไม่มีการลักขโมย การแย่งของรัก การกระทำไม่ดีลับหลัง การพูดปด ไม่มีคนเล่นการพนันและไม่มีคนขาดสติเพราะการดื่มเหล้า สังคมจะน่าอยู่และปลอดภัยขนาดไหน หากยึดหลักศีลห้าไว้ประจำใจ เมื่อคิดจะทำสิ่งไม่ดี เราจะรู้ตัวเร็ว และเกิดความละอายและเกรงกลัวที่จะทำสิ่งไม่ดีนั้น ๆ”
จากศีลห้าที่เป็นหลักพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่ดี คุณศรีวราได้นำหลัก “ไตรสิกขา” คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” มาใช้ในการพัฒนาชีวิต ทั้งการฝึกสติในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว การหมั่นศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า และพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง พระพุทธองค์ทรงสอนทุกเรื่องที่ล้วนเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะในสถานะใด ทั้งนักบวชและฆราวาส ทั้งในสถานะลูก พ่อแม่ ผู้ครองเรือน อาจารย์ ลูกศิษย์ ทรงสอนให้เราเข้าถึงความเป็นจริงของชีวิตเพื่อไม่ต้องเป็นทุกข์
“ในสถานะฆราวาส ไม่ใช่เรื่องไม่สมควรที่จะมีความสุขทางโลก เราสามารถกินของอร่อย ท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง เพียงแค่ไม่ยึดติดหรือหลงใหลเอาเป็นเอาตาย และต้องหาเวลาให้กับการพัฒนาจิตเพื่อเข้าถึงความสุขที่ละเอียดหรือสูงขึ้น เพื่อให้เป็นคนที่สุขง่ายและทุกข์ยาก สร้างภูมิคุ้มกันตน ยามเกิดปัญหาหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในชีวิต สติ สมาธิ และปัญญา หลักธรรมของพระพุทธเจ้าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้อย่างแท้จริง เราจะสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ถ้ารอเข้าวัดเมื่อแก่หรือเป็นทุกข์ มันจะไม่ทันการณ์” คุณศรีวรากล่าว
เคล็ดไม่ลับฝ่าวิกฤติ
คุณศรีวราได้แบ่งปันเคล็ดไม่ลับในการพาบริษัท ชาญอิสสระ ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต่าง ๆ
“นอกจากการมีสติแล้ว ต้องใช้หลัก ‘โยนิโสมนสิการ’ สืบสาวราวเรื่องดูเหตุปัจจัย ปัญหาใดเกิดจากในองค์กร เกิดเพราะเหตุใด จะปรับปรุงแก้ไขได้หรือไม่ อย่างไร ปัญหาใดเกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกเหนือการควบคุม ก็ต้องวางอุเบกขาและอดทนประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด เราเข้าใจกฎแห่งอนิจจัง ความเป็นวัฏจักรมีเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่ตายตัว ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ด้วยความตั้งมั่นในศีล ทำงานบนพื้นฐานของความสุจริตและถูกต้อง เงินที่กู้มากว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการก็ลงอยู่ในโครงการเหล่านั้น ไม่ได้หายไปไหน เมื่อวิกฤติสิ้นสุดลง เศรษฐกิจพัฒนาต่อก็ขายโครงการได้และมีเงินใช้หนี้ธนาคาร ตราบใดที่ยังมีเงินก็สามารถคืนหนี้ตามวาระ แม้พอจะรู้ว่าเจ้าหนี้ของเรากำลังจะล้มครืนในไม่ช้า
“พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน แต่เราต้องนำบทเรียนจากอดีตมาใช้และวางแผนอนาคตให้ดี ช่วงนั้นเรามีเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกว่า 700 ล้านบาท เราพิจารณาว่าเราไม่ควรประมาทและเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพื่ออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เราได้ประโยชน์มาพอแล้ว ถ้าโลภมากอาจลาภหาย เราจึงคืนเงินกู้ต่างประเทศนั้นก่อนการลดค่าเงินบาทเพียงไม่กี่เดือน ธรรมะทำให้เราคิดเป็น เราจึงอยู่รอดมาได้” คุณศรีวรากล่าวถึงหลักโยนิโสมนสิการในการดำเนินธุรกิจ
คุณแม่คนแกร่งของครอบครัว
ในฐานะคุณแม่คนแกร่งของครอบครัว คุณศรีวราให้ข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่ให้รู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิตและมีสติรู้เท่าทันเทคโนโลยี รวมถึงการปฏิบัติธรรมและการนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ
“เรามีเวลาจำกัดและเหลือน้อยลงทุกวัน ๆ ควรคิดให้ดีว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อจะได้ดูว่าสิ่งที่เราเลือกทำนั้นเสริมหรือขัดต่อการเข้าถึงเป้าหมายชีวิต ทุกวันนี้เราพยายามพัฒนาตนตามเส้นทางอริยมรรคมีองค์ 8 ของพระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์และความสุขของตัวเราเองและผู้อื่น คือ หากเราเป็นคนดีมีศีลมีธรรม ย่อมเป็นผลดีต่อสังคมรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน ๆ เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง คู่ค้า รวมถึงลูกค้าของเราด้วย”
คุณศรีวราให้ข้อคิดในการสอนลูก ๆ ว่า “การนำให้ลูก ๆ รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์ที่แสนเมตตาและเปี่ยมปัญญาตั้งแต่เขาเล็ก ๆ นับเป็นการให้ที่ดีที่สุดของคนเป็นแม่ บัดนี้ลูก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของเขาแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังพูดกับลูกเสมอว่า แม่ไม่ขออะไรมาก แค่ขอให้ลูกปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว และให้ฝึกสติในชีวิตประจำวัน ให้เลือกคบกัลยาณมิตร ไม่คบคนพาล และใช้มงคลสูตรหรือทางแห่งความเจริญ 38 ประการเป็น Checklist ในการดำเนินชีวิต”
นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเตือนลูกศิษย์ทุกคนให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ Social Media ในยุคปัจจุบัน ที่มีทั้งคุณและโทษ เพราะเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นและสร้างกระแสทั้งด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เจตนาร้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการ ผู้ที่ปกติไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออกสามารถเขียนอะไรก็ได้โดยแทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เราทุกคนจึงควรใช้สติพิจารณาให้ถี่ถ้วน
สุดท้ายนี้ คุณศรีวรายังให้ข้อคิดในฐานะชาวพุทธว่า “พุทธศาสนาถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะให้เข้าใจ ขอเพียงชาวพุทธปฏิบัติตนให้เป็นพุทธแท้ ไม่ใช่แค่ในนาม ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ พยายามรักษาศีลห้าให้ได้ ทุกคนย่อมจะรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องระแวงรอบข้าง ถ้าทุกคนมุ่งประโยชน์ของประเทศของสังคมเป็นหลัก มีความซื่อสัตย์สุจริต แค่นี้ก็สบายไปร้อยอย่างแล้ว”
โรงเรียนทอสี
มุ่งสร้างเยาวชนที่ทั้งดี ทั้งเก่ง และมีความสุข
การมาพูดคุยกับคุณศรีวราครั้งนี้ กองบรรณาธิการยังได้รับเกียรติจาก ครูอ้อน – บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ น้องสาวของคุณศรีวรา คุณครูใหญ่โรงเรียนทอสี โรงเรียนเล็ก ๆ ย่านสุขุมวิท มาเล่าถึงการเป็นโรงเรียนต้นแบบการศึกษาวิถีพุทธปัญญา ซึ่งนำหลักธรรมการสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการจัดการศึกษาแผนปัจจุบันเพื่อพัฒนานักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั้งภายนอกและภายในให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น
ครูอ้อนกล่าวว่า ระบบการศึกษาที่ผ่านมาให้ความสำคัญเฉพาะความรู้ด้านวิชาการ ซึ่งแท้จริงแล้วควรเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง นั่นคือการพัฒนาทั้งทางด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปพร้อมกัน แรงบันดาลใจนี้เกิดจากการอบรมสั่งสอนของพระอาจารย์ชยสาโรที่ว่า พุทธศาสนาคือระบบการศึกษาที่เป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ที่สุด นอกเหนือจากตำราบทเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว โรงเรียนทอสีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายนอกและภายในอย่างละสองประการ
ภายนอก ประการแรกคือการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับโลกวัตถุ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่เบียดเบียนตนและโลก ประการที่สองคือ การพัฒนาการสื่อสารและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความสุขด้วยสัมพันธภาพที่ถูกต้องดีงาม
ภายใน ประการแรกคือการพัฒนาคุณธรรมและอารมณ์ศึกษา เพื่อให้มีสุขภาพ สมรรถภาพ และคุณภาพจิตที่ดี ประการที่สอง คือการพัฒนาปัญญาให้รู้เท่าทัน สามารถวิเคราะห์แยกแยะเหตุปัจจัยให้สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เรียกว่า หลักการพัฒนาการศึกษาแบบบูรณาการ เป็นองค์รวมตามหลักไตรสิกขาของพระพุทธเจ้า
“วิธีการนี้เป็นหลักการสอนในทุกวิชา การฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เหตุปัจจัย ผนวกกับการปลูกฝังให้เด็กมีอุดมการณ์ในการฝึกตน มีสติสัมปชัญญะ อดทนสู้สิ่งยาก เพียรและใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา จะทำให้เด็ก ๆ ทั้งดี เก่ง และมีความสุขในการเรียนรู้และการใช้ชีวิต นี่คือเป้าหมายของการศึกษาวิถีพุทธปัญญาซึ่งไม่เคยล้าสมัย เพราะได้เห็นผลประจักษ์เป็นที่น่าชื่นใจ ไม่ว่าจะที่ตัวนักเรียนเองหรือผลการสอบ O-NET”
ครูอ้อนทิ้งท้ายว่า “ปัญหาของเยาวชนยุคนี้ คือ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มีข้อมูลท่วมท้นในโลก Social Media จะทำอย่างไรให้เด็กความรู้ไม่ท่วมและเอาตัวรอดได้ และไม่ใช่แค่รอดคนเดียว สังคมและโลกต้องรอดด้วย เราต้องปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม นึกถึงโลกใบนี้เสมอ ไม่ใช่นึกถึงแต่ตนเอง พรรคพวก หรือครอบครัวเท่านั้น คนที่ไม่เข้าใจการศึกษาวิถีพุทธปัญญาเกรงว่าเด็ก ๆ อาจดีงามใสซื่อจนไม่สามารถสู้ใครได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เด็กที่ได้รับการฝึกให้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและมีภูมิคุ้มกันด้านอารมณ์ จะสู้คนอื่นได้แน่นอน”