หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ วัดพระพุทธบาทชนแดน
หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ – วันอังคารที่ 3 มี.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 139 ปี ชาตกาล “พระครูวิชิตพัชราจารย์” หรือ “หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทชนแดน พระเกจิชื่อดัง และเป็นพระนักพัฒนาที่มีคุณูปการต่อกิจการคณะสงฆ์ในจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก จนได้รับสมญา “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก”
ด้านวัตถุมงคลของท่านมีทั้งรูปหล่อโลหะ เหรียญ ตะกรุด แหวน ฯลฯ เป็นที่กล่าวขวัญถึงประสบการณ์ของผู้บูชาอยู่ เป็นเนืองนิตย์ และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
เกิดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2424 ที่บ้านยางหัวลม (ปัจจุบันคือ ต.วังชมภู) ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ บิดา-มารดาชื่อ นายเผือกและนางอินทร์ ม่วงดี
ในช่วงวัยเยาว์เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่ออายุ 16 ปี บิดานำไปฝากให้ พระอาจารย์สี วัดช้างเผือก ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและวิทยาคมจนแตกฉานจากพระอาจารย์สี
พ.ศ.2445 เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีพระครูเมือง เป็น พระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปาน เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สี เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมปัญโญ หมายถึง ผู้มีความรู้ในพระธรรม
หลังอุปสมบท กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดช้างเผือก และศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจาก พระอาจารย์สี พระอาจารย์ปาน และหลวง ทศบรรณ ฆราวาสผู้มีอาคมแก่กล้า
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิปัสสนาจากพระ ครูเมืองจนเป็นที่เลื่องลือว่า “สามารถนั่งวิปัสสนาได้หลายวัน โดยไม่ฉันอาหารเลย”
จากนั้นได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ บำเพ็ญภาวนา แสวงหาสถานที่สัปปายะทำกัมมัฏฐาน ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมด้านวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ
ในขณะออกท่องธุดงค์ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต พระเกจิชื่อดัง โดยหลวงพ่อเขียน เป็นคนบ้านตลิ่งชัน ต.ชอนไพร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ แต่มีอายุ และพรรษามากกว่า หลวงพ่อทบจึงเรียกขานหลวงพ่อเขียน ว่า “หลวงพี่” ทุกครั้งไป
ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด
ออกธุดงค์ บำเพ็ญศีล และเจริญภาวนาไปจนถึงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว
กระทั่งเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะกลับสู่มาตุภูมิ จึงมุ่งหน้าเข้าประเทศไทยทางจ.ตราด สู่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
จากนั้นดำเนินการบูรณะวัดครั้งใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดบ่อน้ำ ประการสำคัญคือ สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในการก่อสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จเรียบร้อยถึง 16 หลัง ทั้งยังวางศิลาฤกษ์หลังที่ 17 ไว้แล้วที่วัดช้างเผือก แต่มรณภาพเสียก่อน
ระหว่างท่องธุดงค์ท่านยังได้พบพระเกจิดังหลายรูป อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อเง่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ และรับถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมต่างๆ อย่างครบถ้วน
พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิชิตพัชราจารย์
จากนั้นกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทเขาน้อย อำเภอชนแดน และกลับมาที่วัดช้างเผือกตามที่พระอาจารย์สีกล่าวฝากไว้ในอดีตว่า “หากจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็ให้กลับมาพัฒนา วัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้าง”
มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2519 สิริอายุ 95 ปี พรรษา 74
หลังมรณภาพ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพบรรจุไว้ในโลงแก้วตามคำสั่งสุดท้ายก่อนมรณภาพที่สั่งไว้ว่า
“ห้ามนำร่างกายกูไปเผา ต่อไปในวันข้างหน้า ร่างกายนี้จะมีคุณประโยชน์ต่อวัด”
ปัจจุบัน วัดช้างเผือกกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง ในแต่ละวันจะมีประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดพากันมากราบสักการะสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยและกลายสภาพเป็นหิน นอนสงบนิ่งอยู่ภายในโลงครอบแก้ว
ทุกปี วัดช้างเผือกจะเปลี่ยนผ้าไตรจีวรให้แก่ท่านเป็นประจำ และผ้าจีวรที่เปลี่ยนออกมา ชาวบ้านญาติโยมต่างพากันนำไปเป็นเครื่องราง
ขอบคุณข้อมูลhttps://www.khaosod.co.th/